สัมผัสวิถี ‘บัว’ ที่พิพิธภัณฑ์บัว มทร.ธัญบุรี ต่อยอดสร้างงานและอาชีพ

หนุ่มศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เปลี่ยนดีไซน์ใหม่ เพื่อการใช้งาน ‘กระถางธูปและเชิงเทียน’ สำหรับศาสนสถาน
28 มีนาคม, 2024
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ประกาศรับสมัครงาน 2 ตำแหน่ง
5 เมษายน, 2024
หนุ่มศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เปลี่ยนดีไซน์ใหม่ เพื่อการใช้งาน ‘กระถางธูปและเชิงเทียน’ สำหรับศาสนสถาน
28 มีนาคม, 2024
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ประกาศรับสมัครงาน 2 ตำแหน่ง
5 เมษายน, 2024

สัมผัสวิถี ‘บัว’ ที่พิพิธภัณฑ์บัว มทร.ธัญบุรี ต่อยอดสร้างงานและอาชีพ

 

บัวหลากหลายสายพันธุ์ สลับกันชูก้านขึ้นเหนือน้ำ ต้อนรับผู้คนทั้งในและต่างประเทศยาวนานถึง 24 ปี พิพิธภัณฑ์บัว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) จ.ปทุมธานี คลองหก “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” ที่นอกจากสร้างสีสันแล้ว ยังต่อยอดงานวิจัย เพื่อสร้างงานและอาชีพร่วมด้วย

นางเยาวมาลย์ นามใหม่ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กองกลาง มทร.ธัญบุรี เผยว่า พิพิธภัณฑ์บัว เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มีการจัดเก็บรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์บัวสายพันธุ์ต่าง ๆ ให้คงอยู่ และเผยแพร่สู่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในการเรียนรู้ ศึกษาค้นคว้า วิจัย สร้างนวัตกรรม และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากบัว โดยดำเนินงานตามแนวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในกิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมสายพันธุ์บัว กิจกรรมปลูกรักษาพันธุ์บัว กิจกรรมพัฒนาสายพันธุ์บัว กิจกรรมปลูกจิตสำนึกให้รักและหวงแหนพันธุ์บัว และกิจกรรมพิเศษสนับสนุนโครงการฯ ปัจจุบันมี ผศ.ภูรินทร์ อัครกุลธร เป็นหัวหน้าฝ่ายพิพิธภัณฑ์บัว

พิพิธภัณฑ์บัว เป็นปราการด่านแรกของ มทร.ธัญบุรี เพื่อต้อนรับมิตรไมตรีที่เดินทางมาเยี่ยมชมในพื้นที่คลองหก หรือธัญบุรี จ.ปทุมธานี ล่าสุดเคยรองรับ สมาคมศิษย์เก่าแห่งประเทศอินเดียในประเทศไทย นักศึกษาและบุคลากร จาก Hokkaido Information University ประเทศญี่ปุ่น คณะผู้บริหาร ครูผู้สอน และนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาสมบูรณ์ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นักศึกษาแลกเปลี่ยนจากประเทศอินเดีย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) รวมถึงคณะผู้บริหาร The University of Rizal System ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น และไม่เพียงเท่านั้น พิพิธภัณฑ์บัวยังต้อนรับกลุ่มคณะบุคคล ภาคการศึกษา ภาคประชาชน และสื่อมวลชนต่าง ๆ ด้วยความต่อเนื่อง เสมือนเป็นแลนด์มาร์กแห่งหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี

ภารกิจหน้าที่สำคัญ และการบริการของพิพิธภัณฑ์บัวมี 5 ส่วนด้วยกันคือ (1) ด้านบริการวิชาการ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์บัว ความเป็นมา ความสำคัญของพิพิธภัณฑ์บัว แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 รายวิชาอัตลักษณ์แห่งราชมงคล และนักศึกษาชั้นปีที่ 2-4 ในรายวิชาอื่นที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์คณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย รวมถึงนักเรียนนักศึกษาจากภายนอก (2) ให้ความรู้ คำแนะนำ และการฝึกปฏิบัติการขยายพันธุ์บัวด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแก่นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และประชาชน เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อบัวจิ๋วพันธุ์เฮลโวล่า การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อบัวฉลองขวัญด้วยสารไคโตซาน และการศึกษาสารฟีนอลิกที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อบัวฉลองขวัญ (3) การจัดอบรมทำผลิตภัณฑ์จากบัว เช่น โครงการฝึกอบรมการพิมพ์ลายผ้าสีธรรมชาติจากบัวหลวงและบัวสาย โครงการอบรมผลิตภัณฑ์กระดาษลายน้ำจากก้านบัวขาวมงคล โครงการอบรมการทำดอกบัวอบแห้ง โครงการอบรมผลิตภัณฑ์จากก้านบัวหลวงและใบบัวหลวง เป็นต้น

(4) การจัดนิทรรศการเผยแพร่ให้ความรู้ด้านอนุรักษ์พันธุ์บัวและการใช้ประโยชน์จากบัว เช่น ร่วมจัดนิทรรศการ“พรรณไม้งามนามบัว” ในงานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวงรัชกาลที่ 9 ร่วมจัดนิทรรศการในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต นำเสนอการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อบัว การพัฒนาสีจากบัวสำหรับวาดภาพบนกระดาษ งาน “นวัตกรรมสร้างสรรค์ RT62” งาน One Day Trip กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี โดยส่วนใหญ่จะเน้นการเพิ่มมูลค่าจากบัว การพัฒนาและการออกแบบผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ และ (5) การให้ความรู้ ด้วยการเป็นวิทยากรหลักและวิทยากรร่วม เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากก้านบัวหลวง การอบรมเชิงปฏิบัติการวิทยาศาสตร์สู่อาชีพ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากพืชและวัตถุดิบท้องถิ่นที่สำคัญในจังหวัดปทุมธานี การอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้พร้อมใช้เพื่อบูรณาการ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากบัว การพัฒนาสีจากบัว เป็นต้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่การปลูก การดูแล การขยายสายพันธุ์ การเก็บเกี่ยว การแปรรูป ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ

จำนวนผู้เข้าชม หรือใช้บริการ ส่วนใหญ่จะมีราว ๆ  20 คนต่อวัน และช่วงพีคสุดเป็นวันปกติ ในช่วงเทอม 1 ของทุกปี ที่จะมีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคณะมาเรียนที่พิพิธภัณฑ์บัว รายวิชาอัตลักษณ์แห่งราชมงคล ส่วนวันหยุด จะเป็นประชาชนทั่วไปที่มาเป็นคณะ กลุ่มและครอบครัว โดยผู้เข้าชม มีทั้งนักเรียน นักศึกษาทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งมีด้วยกันหลายวัยหลายเจนเนอเรชั่น ตั้งแต่เยาวชน วัยทำงาน จนถึงผู้สูงวัย ในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์บัว จัดแบ่งเป็น 3 โซนหลักคือ โซนด้านหน้า ที่จัดแสดงสายพันธุ์บัวสวยงาม และบัวแชมป์โลก ส่วนโซนด้านหลัง จะรวบรวมแม่พันธุ์พ่อพันธุ์บัวที่สำคัญ และบัวลูกผสมพันธุ์ใหม่ รวมถึงการปลูกอนุบาลขยายพันธุ์บัว และโซนด้านในอาคาร จัดไว้สำหรับรับชมวีดิทัศน์ จัดกิจกรรมพิเศษ และจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากบัว ซึ่งผู้เข้าชมจะได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ นอกจากแค่การปลูกบัว

นางเยาวมาลย์ นามใหม่ กล่าวอีกด้วยว่า ที่นี่ยังเน้นการฝึกอบรมที่นำไปสู่การสร้างงานและอาชีพ ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบุคลากร อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืชให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทย ส่งเสริมและสนับสนุนด้านงานวิจัยที่มีผลนำไปสู่เชิงพาณิชย์ บูรณาการการวิจัยเพื่อช่วยเหลือสังคม สร้างคนให้มีงานทำและดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จัดโครงการการพิมพ์ลายผ้าสีธรรมชาติจากบัวหลวงและบัวสาย ภายใต้โครงการการสร้างอัตลักษณ์และมูลค่าเพิ่มจากบัวเพื่อการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ จ.ปทุมธานี โดยจัดโครงการฝึกอบรมให้กับกลุ่มงานประดิษฐ์พรพิมาน คลอง 5 ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรม สามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากผ้าพิมพ์ลายสีธรรมชาติจากบัว และต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ล่าสุดทางกลุ่มฯ ได้ส่งผ้าพิมพ์ลาย (มัดย้อม) สีธรรมชาติจากบัวเข้าร่วมการประกวด และได้รางวัลชนะเลิศอันดับ1 จากสำนักงานพัฒนาจังหวัดปทุมธานี

ด้าน คุณกิตติยา วัชรสินธุ์ ประธานกลุ่มงานประดิษฐ์พรพิมาน คลอง5 กล่าวเสริมว่า การที่เราได้รับความรู้จากงานวิจัย มีข้อดีมากมายที่สามารถช่วยให้ชุมชนหรือกลุ่ม เกิดงานเกิดอาชีพ โดยเฉพาะเป็นแรงจูงใจให้กับกลุ่มที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีความคุ้มค่ามากขึ้น มีการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ขณะเดียวกัน ยังเป็นสิ่งยืนยันการดำเนินแนวทางของกลุ่มว่าเรามาถูกทาง เรามีงานวิจัย มีองค์ความรู้จากภาคการศึกษา มารองรับและช่วยสนับสนุนกลุ่มร่วมด้วย การต่อยอดและบริการแก่ชุมชนที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้สร้างแค่อาชีพ แต่ยังช่วยสร้างการรับรู้ รวมถึงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจของกลุ่มให้อยู่รอดในท่ามกลางที่ทุกสิ่งกำลังผันผวน และทางกลุ่มฯ อยากให้ภาคการศึกษาได้ร่วมพัฒนา และสร้างผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับกลุ่มผู้บริโภคไปด้วยกัน

ผู้สนใจผลิตภัณฑ์ สามารถติดต่อไปที่ facebook-งานประดิษฐ์บ้านพรพิมาน โทร. 095 196 2799. หรือ facebook-พิพิธภัณฑ์บัว มทร.ธัญบุรี โทร. 02 549 3043. (สามารถเยี่ยมชมได้ทุกวันในเวลาราชการ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

 

ขอบคุณรูปภาพบางส่วนจาก https://www.facebook.com/lotus.rmutt
เว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์บัว มทร.ธัญบุรี http://www.lotus.rmutt.ac.th/
เว็บไซต์ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริโดย มทร.ธัญบุรี http://www.rspg.rmutt.ac.th/

 

เรื่อง/ฝ่ายข่าว กองประชาสัมพันธ์
ภาพ/ฝ่ายผลิตและเผยแพร่
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี.

 

อลงกรณ์ รัตตะเวทิน
อลงกรณ์ รัตตะเวทิน
นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ (ฝ่ายข่าว) กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี

Comments are closed.